วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

เหนื่อยนักพักกันบ้าง

          หลังจากที่ตรากตรำทำงานกันมานาน หลังจากผ่านงานมาพอสมควร พวกเราก็ได้มีเวลาพักแม้สัก 1 วันก็ยังดี วันที่ 18 มีนาคม 2554 พวกเราชาวบางละมุง 1 ก็ได้ตกลงกันว่า เราน่าจะมีเวลา พัก ร้อง เล่น เต้น กิน กันอย่างพร้อมหน้าหร้อมตา เรานัดกันเวลา 09.00 น. ที่โรงเรียนบ้านบางละมุง แข่งกีฬาเบาๆ เกมสนุกๆ เพื่อกระชับความรักความผูกพันกัน เราถูกแบ่งออกเป็นสองสี แต่ไม่ใช่มาต่อสู้กันนะครับ เรามาร่วมกันทำกิจกรรมที่สนุกสนาน เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จากนั้น พวกเราก็พร้อมกันไปที่ร้านในนา วันนี้พวกเราเหมาทั้งร้าน ครูประมาณ 180 คน ตำแหน่งแห่งที่เราถอดทิ้ง ไม่มีผู้บริหาร ไม่มีลูกน้อง มีแต่พี่ เพื่อน น้อง ใครอยากร้องเพลง ร้อง ใครอยากกิน กิน บางท่านโชคดี มีรางวัลกลับบ้าน เห็นบรรยากาศแบบนี้แล้ว รักกลุ่มนี้อีกนานครับ












เรียนรู้สู่ผลงาน สืบสานเศรษฐกิจพอเพียง

          ผ่านไปแล้วเมื่อวันที่ 16-17 มีนาคม 2554 การจัดงาน "เรียนรู้สู่ผลงาน สืบสานเศรษฐกิจพอเพียง" ของกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 และโรงเรียนเครือข่าย ที่แปซิฟิกพาร์คศรีราชา นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดี งานนี้เป็นงานที่ถือว่าประสบความสำเร็จของกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 สร้างความเชื่อมั่นและเชื่อใจให้กับคณะผู้บริหารและคณะครูทุกคนให้เห็นว่า อะไรก็ตามถ้าเรามีความพร้อมเพรียงกัน เราสามารถทำได้ทุกอย่าง หลายฝ่ายนำคำนิยมและชื่นชมมาฝาก งานในครั้งนี้ เราได้มีโอกาสพบปะผู้คนหลายหน้ามากตา เช่นครูจากโรงเรียนอื่นๆ บางคนไม่ทราบด้วยซ้ำว่า กลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 และเครือข่าย จัดงานนี้ ไม่รู้ว่าจะมีงานนี้ด้วยซ้ำ เพียงแค่จะมาเที่ยวห้างสรรพสินค้าแปซิฟิกพาร์คแล้วมาเห็น มีมากครับคนที่มาเที่ยวและเยี่ยมชมงานของเราในลักษณะเช่นนี้ มีผู้ปกครองนักเรียน ข้าราชการบำนาญหลายๆท่าน นักเรียนที่มาเที่ยวห้าง มาพบงานนี้โดยบังเอิญ นี่ยังไม่นับ ผู้ปกครองที่มาดูลูกหลานที่แสดงออก ประมาณได้ว่า มีคนมาเที่ยวงานที่เราจัดไม่น้อยกว่าวันละ 1,200 คน ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ เพราะเราต้องการให้ผู้ที่มาเที่ยวชมงานไม่ว่าด้วยเหตุผลใดได้รู้ได้เห็น และได้ทราบว่า มีโรงเรียนอีกอย่างน้อย 13 โรงเรียน ที่มีความรู้ ความสามารถ และความตั้งใจในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
          ผมเชื่อว่า งานนี้ผ่านไปได้ด้วยดีจากความเหน็ดเหนื่อย ของผู้บริหาร ครู และนักเรียนทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผมเห็นความเหน็ดเหนื่อย แลความอดทนของครูทุกโรงเรียน แต่พวกเรามีความเห็นเหมือนผมมั้ยครับว่า ผลจากการที่พวกเราร่วมกันทุ่มเท มันช่างหอมหวานและปลุกให้พวกเรามีพลังและความแข็งแกร่งมากขึ้น ขอคารวะด้วยใจจริงครับ












อบรมระบบประกันคุณภาพภายนอกรอบ 3

          เสียงปี่กลองการประเมินภายนอกรอบ 3 เริ่มแล้ว ทุกสถานศึกษา ต้องเตรียมให้พร้อมเพื่อเข้าสนามการประเมิน ระบบประกันคุณภาพ เป็นระบบที่สร้างความเชื่อมั่น ให้กับ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครองและสังคม ให้มีความเชื่อมั่นว่า สถานศึกษาจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานตามมาตรฐานการศึกษา เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับและเชื่อว่าส่งผลดีต่อการจัดการศึกษา
          กลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 ได้เตรียมความพร้อมให้กับสถานศึกษาในกลุ่ม โดยการสนับสนุนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 เทศบาลตำบลบางละมุง สหกรณ์ออมทรัพย์ครูชลบุรี จำกัด และสถานศึกษาภายในกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 จัดอบรมให้ความรู้แก่คณะครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องจำนวน 180 คน ในวันที่ 13 มีนาคม 2554 ณ เทศบาลตำบลบางละมุง และที่น่าชื่นใจ ท่านอัศนีย์  ศรีสุข ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 ท่านได้แวะมาเยี่ยมเยือนและให้ความรู้และกำลังใจให้กับพวกเราชาวบางละมุง 1 ถึงแม้จะเป็นวันหยุด การอบรมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือร่วมใจอย่างดีจากคณะครูและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพราะทุกคนตระหนักดีว่า ระบบประกันคุณภาพ เป็นระบบที่ทุกคนจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง ความรู้และความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ยังไม่เพียงพอ ความตั้งใจและเอาจริงเอาจังในการทำงาน จะเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันให้สถานศึกษา ได้รับการรับรองว่าเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาได้มาตรฐานตามมาตรฐานการศึกษา
          เห็นความตั้งใจของทุกคนแล้วชื่นใจ อดไม่ได้ที่เอาภาพมาฝากกัน

  

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

แสนยานุภาพกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1

          ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 คือ ลองถ้าได้ทำอะไรจะดูจริงจังไปหมด แต่ไม่เครียด เป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันสูง  บ่อย  แต่ไม่แตกแยก ครูและผู้บริหารของทุกโรงเรียนในกลุ่ม เคยชินกับสิ่งเหล่านี้จนเป็นเรื่องปกติของกลุ่มเราไปเสียแล้ว ผมมักพูดกับผู้บริหารและคุณครูในกลุ่มอยู่เสมอว่า กลุ่มเรารักกันนะ แต่ไม่ยอมกัน ซึ่งหมายถึง เวลาที่เราจัดกิจกรรมอะไรก็ตาม ทุกเรื่องดูจริงจังแต่ไม่ซีเรียส และบอกตรงๆว่า ผมอยากเห็นภาพแบบนี้แหละในการทำงานในปัจจุบัน ในขณะที่เราแข่งขันกัน เราก็มีความถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน  ในขณะที่เราเอาจริงเอาจัง เราก็มีความสนุกสนานในการทำงาน สิ่งเหล่านี้กำลังจะหล่อหลอมพวกเราชาวบางละมุง 1 ให้เป็นเนื้อเดียวกัน กำลังจะเป็นวัฒนธรรมทำงานของพวกเรา
          ถ้าไม่เชื่อผม วันที่ 16-17 มีนาคมที่จะถึงนี้ อยากเชิญชวนพวกเราหรือท่านใดก็ได้ ลองไปที่ศุนย์การค้าแปซิฟิกพาร์ค ศรีราชาดูก็ได้ครับ จะได้เห็นถึงสิ่งที่ผมพูดถึง ครับ ผมกำล่าวถึง "เปิดโลกการเรียนรู้ สู่เศรษฐกิจพอเพียง" ที่พวกเรากลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 และโรงเรียนเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้น ผมมักพูดทีเล่นที่จริงเสมอว่า จะเรียกงานอะไรก็แล้วแต่ แต่ผมตั้งชื่อเล่นให้งานนี้ว่า "งานโรงเรียนอวดดี" คำว่าอวดดีหมายถึงว่า นำของดีของแต่ละโรงเรียนไปอวดให้ผู้คนทั่วไปได้เห็น ว่า 1 ปีที่พวกเราทำงานหนักกันมา เรามีผลผลิตมากมายที่จะนำไปสู่สายตาสาธารณชน สองวันเต็มๆ กับงานนี้ เพียงเพื่อให้สาะารณชนได้รับรู้รับทราบว่า โรงเรียนที่หลายๆคนไม่รู้จัก เขาคิด และทำอะไรกัน งานนี้ ทุกโรงเรียนขนกันมานำเสนอกันอย่างสุดฤทธิ์
          หลายคนถามผมว่า ทำไมต้องเป็นห้างสรรพสินค้า ทำไมไม่ใช้ที่โรงเรียน ผมตอบแบตรงๆเลยครับ วัตถุประสงค์ของการจัดงานนี้ เพื่อต้องการเผยแพร่แสดงผลงานของโรงเรียนให้สาธารณชนได้รับรู้รับทราบ สถานที่ที่เราเลือกใช้เป้นที่จัดงานในปีนี้ ผมเชื่อว่าหลายคนรู้จักดี แปซิฟิกพาร์ค ศรีราชา เป็นห้างสรรพสินค้าที่มีคนหนาแน่นมาก คนทั้งจังหวัดชลบุรีรู้จัก และเข้าไปใช้บริการกันเป็นจำนวนมาก เพียงแค่ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาแวะเข้าไปชมบูธ หรือดูกิจกรรมของพวกเราสักนิด เราก็ถือว่าประสบความสำเร้จแล้วครับ และที่สำคัญเราได้รับความร่วมมือเป็นอันดีจากห้างสรรพสินค้าแห่งนี้
          ผมหวังว่าใครก็ตามครับที่แวะผ่านมาทางบล็อกนี้ อย่าเพิ่งเชื่อผมครับ ลองไปดูให้เห็นกับตาแล้วถ้ามีข้อเสนอแนะดีๆแล้วจะขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

ที่มาของกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1

          หากจะกล่าวถึงกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 มีความเป็นมาอย่างยาวนาน ถ้าจะท้าวความถึงสมัยที่โรงเรียนประถมศึกษาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือก่อนหน้านั้น คงจะต้องคุยกันนาน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การทำงานเป็นทีมนั้นมีผู้ที่ค้นพบและเห็นความสำคัญมานาน ในที่นี้คงต้องขอตัดตอนตั้งแต่ปีพ.ศ.2549 ตั้งแต่ผมมาได้สัมผัสกับกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 แห่งนี้ จำได้ว่าตอนนั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรีเขต 3 เพิ่งก่อตั้งมา หลังจากการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการใหม่ๆ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมัยนั้น ยังต้องขออาศัยแบ่งที่ทำงานของเทศบาลตำบลแหลมฉบังในสมัยนั้น ผมยังจดจำถึงความรู้สึกในสมัยนั้นได้ดี ครูและผู้บริหารงงกับการจัดโครงสร้างการบริหารใหม่ มารู้สึกตัวอีกที่เมื่อ เราได้รู้สึกว่า สิ่งที่เราคุ้นเคยและวัฒนธรรมการทำงานเปลี่ยนไปมาก สปอ.ที่พวกเราเคยใช้ป็นที่นัดพบ ประชุม หรืออบรมหายวับไปต่อหน้าต่อตา กลุ่มโรงเรียนที่เคยเป็นสื่อกลางเป็นที่รวมกันไม่มีในปธาณานุกรมของโครงสร้างใหม่ จำได้ว่าช่วงนั้นรู้สึกโดดเดี่ยว อยู่กันแบบโรงเรียนใครโรงเรียนมัน บางครั้งมีปัญหาก็ไม่รู้ว่าจะไปปรึกษากับใคร (ผมต้องรีบบันทึกตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่ความรู้สึกแบบนี้จะเป็นความเคยชินจนลืม)
          ปี 2549 ผมมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวักสุกรีย์บุญญาราม ทึ่งที่กลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 ยังมีกลุ่ม รวมกันเองครับ สมัยนั้นไม่มีประกาศแต่งตั้งกลุ่มจากเขตพื้นที่ รวมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ลูกเสือ กีฬา ฯลฯ งบประมาณรึ ไม่ต้องพูดครับ โรงเรียนในกลุ่มช่วยกันควักกระเป๋า ประธานกลุ่มสมัยนั้นจำได้ติดตาครับ พูดเสียงเหน่อสำเนียงสุพรรณ ครับ มีคนเดียวทั้งเขต ท่าน ผอ.มงคล แย้มเกษร ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบางละมุง ระยะแรกมีเพียงประมาณ 7-8 โรงเรียนเท่านั้นเองครับ แต่จากความเข้มแข็งของประธานกลุ่ม และเพื่อนผุ้บริหาร คณะครู ที่เอาไงก็เอากัน ต่อมามีผู้ร่วมกันถึง 11 โรงเรียนจนถึงปัจจุบันนี้แหละครับ หลังจากนั้นมาก็มีการจัดตั้งกลุ่มโรงเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก(หลังจากเปลี่ยนโครงสร้างบริหาร) สมัยนั้น ท่าน ผอ.สมชาย  จิตเนื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี เขต 3 ได้ประกาศจัดกลุ่มโรงเรียนอย่างเป็นทางการ กิจการกลุ่มของเราก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
          มีวัฒนธรรมหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นในกลุ่มของเรา ผมประทับใจคำพูดของท่าน ผอ.มงคล  แย้มเกษร อดีตประธานกลุ่มอยู่ประโยคหนึ่ง ถือเป็นประโยคทองที่แสดงให้เห็นแนวปฏิบัติของกลุ่มเรา นั่นก็คือ "พี่พอแล้ว เมื่อตอนที่พี่เป็นประธานกลุ่ม น้องๆช่วยพี่ดี วันนี้ กูใช้แรงพวกมึง" กลุ่มเราเลยมีสโลแกนว่า "ใครก็เป็นประธานกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 ได้" ด้วยเหตุผลที่ว่า ทุกคนเต็มที่กับทุกบทบาท เลยเป็นที่มาของการใช้ประธานกลุ่มเปลืองที่สุด ปกติเค้าจะมีวาระละ 4 ปี แต่กลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 เป็นคนละ 1 ปีก็เปลี่ยนแล้ว เพราะจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน
          อีกวัฒนธรรมหนึ่งที่พวกเราร่วมกันรณรงค์จนเกิด นั่นก็คือการตรงต่อเวลา กลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 จะเป็นกลุ่มที่ตรงต่อเวลา นัดประชุม 9 โมง พอถึงเวลาก็ประชุมได้เลย ไม่ต้องรอกันจนเสียการณ์ นัดเมื่อไรก็พร้อมเพื่อนั้น เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และธำรงรักษาไว้
          เพื่อนครูและผู้บริหารที่รักทุกท่านครับ ผมนั่งเขียนบทความนี้ด้วยความสุขใจ ทุกครั้งที่นึกถึงกลุ่มของพวกเรา ทุกกิจกรรม ทุกโครงการที่พวกเราทำร่วมกันมา นอกจากความเหน็ดเหนื่อยและความสำเร็จที่พวกเราได้รับแล้ว ใบหน้าเรามักจะเปื้อนด้วยรอยยิ้มด้วยความสุขใจที่ระลึกถึงกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1

                                                                           
                                                                              

วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554

ช่วยตั้งชื่อเรื่องให้ด้วย



          ผมไปเจอคลิปนี้ นานพอสมควรแล้วครับ เคยเล่าสู่ให้พี่ เพื่อน น้อง ครูฟัง หลายกลุ่มหลายคณะฟัง นึกชื่นชมคนที่ไปเก็บภาพพวกนี้ไว้ได้ คลิปวีดีโอคลิปนี้ ทำให้เราเห็นอะไรหลายๆอย่างครับอดคิดไม่ได้ว่า บางครั้งเราประเมินสัตว์ต่ำไป และบางครั้งเราประเมินมนุษย์สูงไป

ที่มาเพลงพรปีใหม่


          เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่พุทธศักราช 2554 ไปไหนมาไหนมักจะได้ยินเพลงอยู่เพลงหนึ่ง ทุกปี นั่นคือเพลง พรปีใหม่ ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่จะมีสักกี่คนที่จะทราบว่า เพลงนี้มีความเป็นมาอย่างไร เลยลองไปสืบค้นดู จาก http://www.baanmaha.com/community/thread7576.html เลยนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

          เพลงพระราชนิพนธ์ พรปีใหม่ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร และประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง "พรปีใหม่" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495