วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

ที่มาของกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1

          หากจะกล่าวถึงกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 มีความเป็นมาอย่างยาวนาน ถ้าจะท้าวความถึงสมัยที่โรงเรียนประถมศึกษาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือก่อนหน้านั้น คงจะต้องคุยกันนาน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การทำงานเป็นทีมนั้นมีผู้ที่ค้นพบและเห็นความสำคัญมานาน ในที่นี้คงต้องขอตัดตอนตั้งแต่ปีพ.ศ.2549 ตั้งแต่ผมมาได้สัมผัสกับกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 แห่งนี้ จำได้ว่าตอนนั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรีเขต 3 เพิ่งก่อตั้งมา หลังจากการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการใหม่ๆ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมัยนั้น ยังต้องขออาศัยแบ่งที่ทำงานของเทศบาลตำบลแหลมฉบังในสมัยนั้น ผมยังจดจำถึงความรู้สึกในสมัยนั้นได้ดี ครูและผู้บริหารงงกับการจัดโครงสร้างการบริหารใหม่ มารู้สึกตัวอีกที่เมื่อ เราได้รู้สึกว่า สิ่งที่เราคุ้นเคยและวัฒนธรรมการทำงานเปลี่ยนไปมาก สปอ.ที่พวกเราเคยใช้ป็นที่นัดพบ ประชุม หรืออบรมหายวับไปต่อหน้าต่อตา กลุ่มโรงเรียนที่เคยเป็นสื่อกลางเป็นที่รวมกันไม่มีในปธาณานุกรมของโครงสร้างใหม่ จำได้ว่าช่วงนั้นรู้สึกโดดเดี่ยว อยู่กันแบบโรงเรียนใครโรงเรียนมัน บางครั้งมีปัญหาก็ไม่รู้ว่าจะไปปรึกษากับใคร (ผมต้องรีบบันทึกตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่ความรู้สึกแบบนี้จะเป็นความเคยชินจนลืม)
          ปี 2549 ผมมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวักสุกรีย์บุญญาราม ทึ่งที่กลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 ยังมีกลุ่ม รวมกันเองครับ สมัยนั้นไม่มีประกาศแต่งตั้งกลุ่มจากเขตพื้นที่ รวมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ลูกเสือ กีฬา ฯลฯ งบประมาณรึ ไม่ต้องพูดครับ โรงเรียนในกลุ่มช่วยกันควักกระเป๋า ประธานกลุ่มสมัยนั้นจำได้ติดตาครับ พูดเสียงเหน่อสำเนียงสุพรรณ ครับ มีคนเดียวทั้งเขต ท่าน ผอ.มงคล แย้มเกษร ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบางละมุง ระยะแรกมีเพียงประมาณ 7-8 โรงเรียนเท่านั้นเองครับ แต่จากความเข้มแข็งของประธานกลุ่ม และเพื่อนผุ้บริหาร คณะครู ที่เอาไงก็เอากัน ต่อมามีผู้ร่วมกันถึง 11 โรงเรียนจนถึงปัจจุบันนี้แหละครับ หลังจากนั้นมาก็มีการจัดตั้งกลุ่มโรงเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก(หลังจากเปลี่ยนโครงสร้างบริหาร) สมัยนั้น ท่าน ผอ.สมชาย  จิตเนื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี เขต 3 ได้ประกาศจัดกลุ่มโรงเรียนอย่างเป็นทางการ กิจการกลุ่มของเราก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
          มีวัฒนธรรมหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นในกลุ่มของเรา ผมประทับใจคำพูดของท่าน ผอ.มงคล  แย้มเกษร อดีตประธานกลุ่มอยู่ประโยคหนึ่ง ถือเป็นประโยคทองที่แสดงให้เห็นแนวปฏิบัติของกลุ่มเรา นั่นก็คือ "พี่พอแล้ว เมื่อตอนที่พี่เป็นประธานกลุ่ม น้องๆช่วยพี่ดี วันนี้ กูใช้แรงพวกมึง" กลุ่มเราเลยมีสโลแกนว่า "ใครก็เป็นประธานกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 ได้" ด้วยเหตุผลที่ว่า ทุกคนเต็มที่กับทุกบทบาท เลยเป็นที่มาของการใช้ประธานกลุ่มเปลืองที่สุด ปกติเค้าจะมีวาระละ 4 ปี แต่กลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 เป็นคนละ 1 ปีก็เปลี่ยนแล้ว เพราะจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน
          อีกวัฒนธรรมหนึ่งที่พวกเราร่วมกันรณรงค์จนเกิด นั่นก็คือการตรงต่อเวลา กลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 จะเป็นกลุ่มที่ตรงต่อเวลา นัดประชุม 9 โมง พอถึงเวลาก็ประชุมได้เลย ไม่ต้องรอกันจนเสียการณ์ นัดเมื่อไรก็พร้อมเพื่อนั้น เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และธำรงรักษาไว้
          เพื่อนครูและผู้บริหารที่รักทุกท่านครับ ผมนั่งเขียนบทความนี้ด้วยความสุขใจ ทุกครั้งที่นึกถึงกลุ่มของพวกเรา ทุกกิจกรรม ทุกโครงการที่พวกเราทำร่วมกันมา นอกจากความเหน็ดเหนื่อยและความสำเร็จที่พวกเราได้รับแล้ว ใบหน้าเรามักจะเปื้อนด้วยรอยยิ้มด้วยความสุขใจที่ระลึกถึงกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1

                                                                           
                                                                              

วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554

ช่วยตั้งชื่อเรื่องให้ด้วย



          ผมไปเจอคลิปนี้ นานพอสมควรแล้วครับ เคยเล่าสู่ให้พี่ เพื่อน น้อง ครูฟัง หลายกลุ่มหลายคณะฟัง นึกชื่นชมคนที่ไปเก็บภาพพวกนี้ไว้ได้ คลิปวีดีโอคลิปนี้ ทำให้เราเห็นอะไรหลายๆอย่างครับอดคิดไม่ได้ว่า บางครั้งเราประเมินสัตว์ต่ำไป และบางครั้งเราประเมินมนุษย์สูงไป

ที่มาเพลงพรปีใหม่


          เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่พุทธศักราช 2554 ไปไหนมาไหนมักจะได้ยินเพลงอยู่เพลงหนึ่ง ทุกปี นั่นคือเพลง พรปีใหม่ ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่จะมีสักกี่คนที่จะทราบว่า เพลงนี้มีความเป็นมาอย่างไร เลยลองไปสืบค้นดู จาก http://www.baanmaha.com/community/thread7576.html เลยนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

          เพลงพระราชนิพนธ์ พรปีใหม่ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร และประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง "พรปีใหม่" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495